MENU
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม l webbord | คำคมนักปราชญ์| ตำนานพื้นบ้าน | รักษ์ดนตรีไทย | มวยไทย | ภาพศิลป์ไทย | สินค้าฝากขาย | เทคนิคโปรแกรม | ที่นี่มีแต่ของฟรี | ลิ้งค์สุดยอด | ติดต่อเรา |
....

จังหวัดเชียงใหม่

ประวัติ วัดเชียงหมั้น

สถานที่ตั้ง ตั้งอยู่ที่ถนนราชภาคินัย ตำบลศรีภูมิ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
ประวัติความเป็นมา
....................จากศิลาจารึกหลักที่ ๗๖ ศิลาจารึกวัดเชียงหมั้น (จศ.๙๔๓) พ.ศ. ๒๑๒๔ ได้กล่าวถึงวัดเชียงหมั้นว่า หลังจากที่พญางำเมือง พญาร่วง และพญามังรายทรงสร้างเมืองเชียงใหม่สำเร็จบริบูรณ์ ในปี พ.ศ.๑๘๓๙ แล้ว ทั้งสามพระองค์ทรงโปรดให้ก่อเจดีย์ตรงที่หอนอน บ้านเชียงหมั้น ซึ่งพญามังรายทรงสร้างเป็นที่ประทับ ชั่วคราวเพื่อควบคุมการสร้างเมืองใหม่ และให้ชื่อว่าวัดเชียงหมั้น นับเป็นพระอารามหลวงแห่งแรกของเมือง
เชียงใหม่ ต่อมา พ.ศ. ๒๐๑๔ ในรัชกาลพญาติโลกราช กษัตริย์ราชวงศ์มังราย ลำดับที่ ๑๐ (ครองราชย์ พ.ศ. ๑๙๘๕ - พ.ศ. ๒๐๓๑) โปรดสร้างเจดีย์ด้วยศิลาแลง ต่อมา พ.ศ. ๒๑๐๑ พม่าเข้ายึดครองเมืองเชียงใหม่ สมเด็จพระมหาธัมมิกะราชาธิราชแห่งพม่า (พระเจ้ามังนรทาช่อมาปกครองเชียงใหม่ พระองค์มีพระราช
ศรัทธาในพุทธศาสนา โปรดให้พระยาแสนหลวง สร้างเจดีย์ วิหาร อุโบสถ หอไตร ธัมมะเสนา เสนาสนะ กำแพง ประตูโขง มีพระมหาหินทาทิจจะวังสะ อายุ ๗๓ ปี เป็นเจ้าอาวาส)
....................ต่อมาในสมัยพระเจ้ากาวิละ (ครองราชย์ ปี พ.ศ. ๒๓๒๕-พ.ศ. ๒๓๖๗) ได้บูรณะปฏิสังขรณ์อีกครั้ง หนึ่ง หลังจากที่อยู่ในสภาพวัดร้าง ในช่วงทำสงครามกู้เอกราชกับพม่าตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๑๗ สมัยเจ้าอินทวโรรส (พ.ศ. ๒๔๔๐-พ.ศ. ๒๔๕๒) พระพุทธศาสนาแบบธรรมยุตินิกายได้เข้ามาเผยแพร่
ยังอาณาจักรล้านนา เจ้าอินทวโรรสจึงได้นิมนต์สงฆ์ฝ่ายพระธรรมยุติจำพรรษาอยู่ที่วัดเชียงหมั้นเป็นครั้งแรก ต่อมาได้ย้ายไปอยู่วัดหอธรรม (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งโรงเรียนธรรมราชศึกษา อยู่ในบริเวณเดียวกับวัดเจดีย์หลวง เป็นฝ่ายธรรมยุตินิกาย) และวัดเจดีย์หลวงตามลำดับ
ความสำคัญต่อชุมชน
....................เนื่องจากเป็นพระอารามแห่งแรกของเมืองเชียงใหม่ ดังนั้นในการประกอบพิธีทางศาสนาในวันสำคัญ ๆ เช่น การสรงน้ำพระพุทธรูป การทานก๋วยสลาก ฯลฯ มักจะทำที่วัดเชียงหมั้นเป็นแห่งแรก นอกจากนี้มี โบราณวัตถุที่สำคัญคู่บ้านคู่เมืองของเชียงใหม่ซึ่งมีประวัติความเป็นมายาวนาน เป็นที่เคารพสักการะบูชา
ของคนเชียงใหม่โดยทั่วไป
ลักษณะทางสถาปัตยกรรม
๑. เจดีย์สี่เหลี่ยมผสมทรงกลมฐานช้างล้อม ๑๖ เชือก เป็นเจดีย์ทรงสูงประกอบด้วยเรือนธาตุ มีซุ้ม จระนำด้านละสามซุ้ม เหนือเรือนธาตุขึ้นไป เป็นชั้นบัวถลาถัดไปเป็นชั้นมาลัยเถาแปดเหลี่ยมองค์ระฆังกลม
๒. พระอุโบสถ เป็นที่ตั้งของศิลาจารึกวัดเชียงหมั้นที่มีข้อความกล่าวถึงการสร้างเมืองเชียงใหม่และพระราชวงศ์มังราย
๓. หอไตร แบ่งเป็นสองส่วน ส่วนล่างก่ออิฐถือปูน ส่วนบนเป็นโครงสร้างไม้ ศิลปล้านนา หน้าบัน ประดับด้วยปูนขึ้นลายก้านขด
๔. พระพุทธเสตังคมณี (พระแก้วขาว) เป็นพระพุทธรูปแก้วผลึกสีขาวปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง ๔ นิ้ว สูง ๖ นิ้ว ศิลปทวาราวดี ตำนานจามเทวีวงศ์ ได้กล่าวถึงพระแก้วขาวว่าพระนางจามเทวีนำมา ประดิษฐานที่หริภุญไชยใน พ.ศ. ๑๒๔๐ จนกระทั่งพญามังรายตีหริภุญไชยได้ ใน พ.ศ. ๑๘๒๔ นำมา
ประดิษฐานที่วัดเชียงหมั้น
เส้นทางเข้าสู่วัดเชียงหมั้น
....................วัดเชียงหมั้น ตั้งอยู่บนถนนราชภาคินัยในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ใกล้มุมถนนเวียงแก้ว และถนนราชภาคินัยตัดกัน ซึ่งอยู่ด้านหลัง ของบริษัทการบินไทยประมาณ ๖๐๐ เมตร หรือจากประตูช้างเผือกไปตาม ถนนพระปกเกล้า ๒๐๐ เมตร เลี้ยวซ้ายตรงบริษัทการบินไทยเข้าถนนเวียงแก้วไปประมาณ ๖๐๐ เมตร เลี้ยว ซ้ายเข้าถนนภาคินัย วัดเชียงหมั้นอยู่ทางด้านซ้ายมือ