MENU
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม l webbord | คำคมนักปราชญ์| ตำนานพื้นบ้าน | รักษ์ดนตรีไทย | มวยไทย | ภาพศิลป์ไทย | สินค้าฝากขาย | เทคนิคโปรแกรม | ที่นี่มีแต่ของฟรี | ลิ้งค์สุดยอด | ติดต่อเรา |
....

จังหวัดยะลา

ชื่อ ตำนานทวดกุหล่ำ


........................ ทวดกุหล่ำ เป็นชื่อสถานที่แห่งหนึ่งในตำบลบาละ อำเภอยะหา จังหวัดยะลา ทวดเป็นคำภาษาไทย หมายถึง พ่อหรือแม่ของปู่ย่าตายาย และชาวบ้านในตำบลบาละนิยมใช้เรียกสิ่งที่ตนเองนับถือในแง่ของ อภินิหารและความศักดิ์สิทธิ์ กุหล่ำ เป็นคำที่มาจากภาษามลายู หมายถึง บึง หรือคุ้งน้ำ ห้วงน้ำ ทวดกุหล่ำ จึงหมายถึง ห้วงน้ำ หรือ คุ้งน้ำที่มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สถิตอยู่
เนื้อเรื่อง
...........................เมื่อประมาณ ๒ - ๓ ร้อยปีก่อนโน้น บริเวณที่ทวดกุหล่ำสิงสถิตอยู่ในปัจจุบันนี้เป็นทะเล ทวดกุหล่ำได้ นำคณะมโนราห์มาจากเมืองไทรบุรี โดยทางเรือเมื่อมาถึงบริเวณนี้เรือเกิดอัปปาง คณะมโนราห์และผู้อาศัย ในเรือตายหมด ต่อมาบริเวณนี้ค่อย ๆ กลายสภาพเป็นเพียงสายน้ำแห่งหนึ่ง และตรงที่บริเวณที่เรือของ
ทวดกุหล่ำได้อัปปางลงนั้นมีลักษณะเป็นวังน้ำวนและลึกมาก และมีความเชื่อว่าวังน้ำวนแห่งนี้เป็นที่ทวดกุหล่ำสถิตอยู่ บริเวณวังน้ำวนซึ่งมีความลึกดังกล่าว ยังมีปลาอาศัยอยู่ชุกชุม แต่ไม่มีใครกล้ากินปลา เหล่านี้ เนื่องจากมีผู้เล่าว่า เคยมีคนป่าเผ่าซาไกคนหนึ่งมาตกปลา นั่งตกปลาอยู่นานปลาก็ไม่ติดเบ็ดแม้แต่
ตัวเดียว ทั้ง ๆ ที่ลักษณะของน้ำที่ปลาบ้วนผุดอยู่มากมาย จึงพูดทำนองบนบานว่า ตกไม่ได้สักตัวได้สักท่อนก็ยังดี ผลปรากฏว่า มีปลาติดเบ็ดขึ้นมาทันที แต่ติดขึ้นมาท่อนเดียว คือเฉพาะท่อนหัว ท่อนหางหายไป ชาวซาไกผู้นั้นนำปลาท่อนเดียวไปกินถึง ๑๕ คน จึงทำให้ชาวซาไกกลุ่มนี้เสียชีวิตไป ๑๓ คน รอดชีวิตมา
เพียง ๒ คน เชื่อกันว่า ๒ คนดังกล่าวไม่ได้มีส่วนร่วมในการกินปลา และหลังจากนั้น มีคนไปตกปลาที่วังน้ำนั้นอีก แต่ไม่ได้ปลา ได้แต่หน้ากากพรานมโนราห์ ที่ทำด้วยอัญมณีขึ้นมาแทน เมื่อผู้ตกจะเอื้อมมือปลดออกจากเบ็ด หน้ากากพรานมโนราห์ก็หลุดจากเบ็ดหล่นลงวังน้ำวนเช่นเดิม นับแต่นั้นมาไม่มีใครกล้าไปตกเบ็ดหรือหา
วิธีการจับปลาจากสถานที่นั้นอีกเลย เพราะเชื่อกันว่าทวดกุหล่ำไม่พอใจ จึงสำแดงอภินิหารและลงโทษให้เป็นที่ประจักษ์
ต่อมามีการขุดถนน สร้างทางผ่านบริเวณแอ่งน้ำวนแห่งนี้ โดยทำพิธีอัญเชิญทวดกุหล่ำย้ายที่อยู่ใหม่ในที่สูง ห่างไกลจากถนน และสิ่งรบกวน บริเวณแอ่งนั้น เมื่อขุดเป็นถนนก็ไม่พบอะไรให้เห็นเลย นอกจากก้อนหินใหญ่ก้อนหนึ่ง และขอนไม้ซึ่งเหลือเพียงแก่นท่อนหนึ่งเท่านั้น
คติหรือแนวคิด
.................................ตำนานเรื่องทวดกุหล่ำ ซึ่งเป็นตำนานที่เล่าสืบต่อกันมา และเชื่อว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทำให้ได้ข้อคิดกับคนรุ่นหลังว่า บรรพบุรุษนั้นมีความสำคัญ ควรจะยกย่องบูชา จะทำอะไรหรือสร้างอะไรก็ ควรจะบอกกล่าวเจ้าของสถานที่ถึงแม้จะไม่มีชีวิตแล้วก็ตาม ถ้าอัญเชิญไปให้อยู่ในที่ดี ๆ เคารพบูชาก็จะเป็นมลคลกับตัวหรือ
ผู้กระทำสืบไป เท่ากับให้เราเคารพบรรพบุรุษของเรานั่นเอง