MENU
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม l webbord | คำคมนักปราชญ์| ตำนานพื้นบ้าน | รักษ์ดนตรีไทย | มวยไทย | ภาพศิลป์ไทย | สินค้าฝากขาย | เทคนิคโปรแกรม | ที่นี่มีแต่ของฟรี | ลิ้งค์สุดยอด | ติดต่อเรา |
....

จังหวัดภูเก็ต

ชื่อ ตำนานวัดพระทอง


สถานที่ตั้ง วัดพระทอง ตั้งอยู่ที่บ้านนาใน ตำบลเทพกระษัตรี อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต
ประวัติความเป็นมา
....................ความเป็นมาของวัดพระทองเล่ากันมาว่า บริเวณวัดเป็นทุ่งกว้างสำหรับเลี้ยงสัตว์ ครั้งหนึ่งเกิดพายุฝนทำให้น้ำท่วม เมื่อน้ำแห้งก็มีพระพุทธรูปผุดแค่เศียรขึ้นมาในบริเวณนั้น ชาวบ้านพบเห็นว่าเป็นพระทองคำ จึงพากัน สักการะแล้วแจ้งให้เจ้าเมืองทราบ เจ้าเมืองสั่งให้ขุดพระแต่ไม่สำเร็จ จึงทำโรงมุงหลังคาไว้ให้คนได้
กราบไหว้ ต่อมาชีปะขาวรูปหนึ่งมาพักที่เมืองถลาง ทราบว่าพระพุทธรูปทรงคำผุดอยู่กลางทุ่งนา กลัวว่าจะ ถูกขโมยจึงชวนชาวบ้านโบกปูนขาวทับไว้
เมื่อครั้งศึกพม่าตีเมืองถลาง รู้ว่ามีพระพุทธรูปทองคำจึงรื้อปูนขาวออก ขุดพระผุดแต่ขุดไม่ได้ พอดีทัพเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชยกทัพมาช่วยเมืองถลาง พม่าจึงลงเรือหนีกลับไปทิ้งพระผุดไว้ ประจวบกับในปีนั้นมีพระธุดงด์รูปหนึ่ง มาจากสุโขทัย ได้เห็นพระผุด จึงชักชวนชาวบ้านสร้างวัด โดยมีพระผุดเป็นพระประธานใน
อุโบสถ แล้วทำการผูกพัทธสีมา ชาวบ้านพากันเรียกวัดนี้หลายชื่อ บ้าง เรียกว่า วัดนาใน วัดพระผุด หรือวัด พระหลอคอ เมื่อสร้างวัดเสร็จเรียบร้อยแล้ว พระธุดงด์รูปนั้นได้ผูกปริศนาลายแทงไว้ดังนี้ "ยัก ๓ ยัก ๔ หาบผี มาเผา ผีไม่ทันเน่าหอมฟุ้งตลบ ผู้ใดคิดลบ ให้เอาที่กบปากแดง" ปริศนานี้เจ้าอาวาสต้องแก้ให้ได้ ถ้าแก้ไม่ได้ จะอยู่วัดได้ไม่นาน แต่ไม่มีใครแก้ได้ในที่สุดวัดก็ร้าง จนเลื่องลือกันว่า "วัดพระผุดกินสมภาร" จนสิ่งก่อสร้างผุ
ผังรกร้างเหลือแต่พระผุดที่พอกปูนไว้ เมื่อถึงปี พ.ศ. ๒๔๔๐ พระครูจิตถารสมณวัตร์ (หลวงพ่อฝรั่ง) แห่งวัดพระนางสร้าง แก้ปริศนาได้ จึงบูรณะวัดพระผุด โดยได้เป็นเจ้าอาวาส จำพรรษาอยู่ถึง ๖๑ พรรษา จนมรณภาพ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๑ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสเมืองภูเก็ต จึงได้
เสด็จทอดพระราชทานพระผุด ได้พระนิพพานนามวัดพระผุดว่า วัดพระทอง
ความสำคัญต่อชุมชน
......................วัดพระทองเป็นวัดเก่าแก่ของเมืองภูเก็ตเป็นที่ประดิษฐานของพระผุดซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวเมือง ทั้งชาวไทยและชาวไทยเชื้อสายจีน เพราะเชื่อกันว่าพระผุดมาจากเมืองจีน เมื่อถึงเทศกาลตรุษจีน ก็จะทำกันมาไหว้พระผุดเสมอทุกปี แม้ในสมัยวัดพระทองรกร้าง ก็จะพากันมาถากถางเพื่อไหว้พระผุดในเทศกาล
ตรุษจีน นอกจากนี้วัดพระทองยังใช้เป็นสถานที่ปลุกเสกน้ำมุรธาภิเษกของทุกรัชกาล
ลักษณะทางสถาปัตยกรรม
๑. อุโบสถหลังเก่า ซ่อมแซมใหม่แล้ว ภายในอุโบสถมีพระพุทธรูปดังนี้
๑.๑ พระพุทธรูปทองคำครึ่งองค์ ซึ่งเรียกกันว่า พระผุด เป็นพระประธานของอุโบสถ
๑.๒ พระพุทธรูปปางต่าง ๆ จำนวน ๙ องค์ ประดิษฐานอยู่เรียงรายภายในอุโบสถ เช่น ปางถวายเนตร ปางรำพึง ปางห้ามญาติ ปางอุ้มบาตร ปางไสยาสน์
๑.๓ พระพุทธรูปปางต่าง ๆ มีขนาดต่าง ๆ กัน ความสูงไม่เกิน ๑ ศอก สีดำ วางอยู่บนเคร่าเพดาน เรียงรายรอบทั้งสี่ด้านของอุโบสถ
๒. อุโบสถหลังใหม่ ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ รูปทรงต่าง ๆ สวยงามมาก
๓. ศาลาพุทธสุวรรณนิมิต สร้างแบบรัตนโกสินทร์มี ๒ ชั้น ใช้ประโยชน์ทั้งเป็นหอสวดมนต์ ศาลาการเปรียญ โรงเรียนพระปริยัติธรรม หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล และพิพิธภัณฑ์สถานของวัดพระทอง มีเหรียญและเงินสมัยต่าง ๆ เก็บรวบรวมไว้ และมีถ้วยชามเครื่องลายครามที่ชาวในเมืองภูเก็ตโดยเฉพาะใน
เขตเมืองถลาง นำมามอบไว้ให้วัด
๔. ศาลาจตุรมุข เป็นที่ประดิษฐานรูปภาพถ่ายของเจ้าอาวาสองค์ก่อนมีทั้งภาพรูปภาพถ่าย และรูปปั้น ของพระครูจิตถารสมณวัตร์ (หลวงพ่อฝรั่ง) ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนโดยทั่วไป
๕. หอกลองและหอระฆัง ตั้งอยู่มุมด้านซ้ายและขวาของอุโบสถหลังเก่า สร้างรูปศิลปกรรมสมัยรัตนโกสินทร์
เส้นทางเข้าสู่วัดพระทอง
...................จากตัวเมืองภูเก็ตไปตามถนนเทพกระษัตรีประมาณ ๒๐ กิโลเมตร ผ่านที่ว่าการอำเภอถลางไปจะมี ทางแยกขวามือเข้าวัดพระทองไปประมาณ ๒๐๐ เมตร
อีกเส้นทางหนึ่งข้ามสะพานเทพกระษัตรีไปถนนสาย ๔๐๒ ก่อนถึงที่ว่าการอำเภอถลางจะเห็นทางแยก ซ้ายมือเข้าวัดพระทอง ไปประมาณ ๒๐๐ เมตร