MENU
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม l webbord | คำคมนักปราชญ์| ตำนานพื้นบ้าน | รักษ์ดนตรีไทย | มวยไทย | ภาพศิลป์ไทย | สินค้าฝากขาย | เทคนิคโปรแกรม | ที่นี่มีแต่ของฟรี | ลิ้งค์สุดยอด | ติดต่อเรา |
....

จังหวัดนครศรีธรรมราช

ตำนานพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช

..............ในเอกสารโบราณฉบับพระนิพพานโสตร ได้กล่าวถึงความเป็นมาของพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน ได้มีการแบ่งพระบรมสารีริกธาตุไปตามที่ต่าง ๆ ทั้งบนสวรรค์ ในนรก และนาคพิภพ แต่ต่อมาพระเจ้าอชาตศัตรูได้ทรงให้พระมหากัสสปะ ไปอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมารวมขุดหลุมฝังไว้ ในที่เดียวกัน ณ กรุงราชคฤห์ ในชมพูทวีปแล้วผูกภาพยนตร์รักษาไว้ เมื่อศักราช ๒๒๔ พระยาโศกราช (ศรีธรรมโศกราช) แห่งนครอินทปัตถ์ในชมพูทวีป โปรดให้ขุดพระบรมสารีริกธาตุแจกจ่ายไปยังนครต่าง ๆ ถึง ๘๔,๐๐๐ นคร ส่วนพระเกษมมหาเถระ ซึ่งได้กำบังกายเข้าไป
ในกองเพลิงในวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ แล้วอัญเชิญพระทันธาตุไปถวายพระเจ้าสิงหราชแห่งนครป่าหมาก (ทนทบุรี) จึงเป็นเหตุให้กษัตริย์เมืองต่าง ๆ ยกทัพมาแย่งพระทันตธาตุกันไม่ได้ขาด แต่ พระเจ้าสิงหราชทรงชนะศึกทุกครั้ง ครั้งสุดท้ายกษัตริย์หนุ่มเป็นหัวหน้ารวมตัวจัดทัพใหญ่ประชิดเมือง
พระเจ้าสิงหราช คาดการณ์ว่ายากจะเอาชนะได้ จึงให้พระราชโอรสคือเจ้าชายทนทกุมาร และพระราชธิดา คือพระนางเหมชาลา อัญเชิญพระทันต-ธาตุลงเรือกำปั่นหนีไปลังกา โดยซ่อนพระทันตธาตุไว้ในเกศาของ พระนางเหมชาลา แต่เรือกำปั่นแตกเพราะถูกพายุ ทั้งสองได้ขึ้นฝั่ง ณ หาดทรายแก้ว แล้วฝังพระทันตธาตุไว้ ณ ที่นั้น ท้าวนาคาได้มาพบพระทันตธาตุที่ฝังไว้ จึงอัญเชิญไปกรุงนาคา แต่พระมหาเถรพรหมเทพได้อัญเชิญมาคืนแก่ทั้งสอง พระนางเหมชาลา และเจ้าชายทนทกุมารจึงได้อัญเชิญพระทันตธาตุลงเรือกำปั่นของพ่อค้า ไปถึงลังกาสำเร็จ เมื่อขึ้นฝั่งพระนางเหมชาลาและเจ้าชายทนทกุมาร ได้เข้าเฝ้าพระสังฆราชแห่งลังกา ตกกลางคืน พระทันตธาตุได้แผ่ฉัพพรรณรังสี ทำให้พระสังฆราชทราบข้อเท็จจริงโดยตลอด จึงกราบบังคมทูลให้ พระเจ้าทศคามมุนีกษัตริย์ลังกาทราบ พระองค์จึงเสด็จออกมารับพระทันตธาตุอัญเชิญไป ณ พระบรมมหาราชวัง แล้วทรงสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ขึ้นประดิษฐานพระทันตธาตุ พระเจ้าทศคามมุนีทรงทราบในพระพุทธทำนายว่า ในศักราช ๗๐๐ พระเจ้าศรีธรรมโศกราชแห่ง หาดทรายแก้ว จะทรงแจกพระบรมสารีริกธาตุ จึงรับสั่งให้เจ้าเณรไปอัญเชิญพระ-บรมสารีริกธาตุ ๒ ทะนาน มาจากท้าวนาคา พระราชทานให้พระนางเหมชาลา พระเจ้าทนทกุมาร พระราชครูและบริวาร อัญเชิญไป
ประดิษฐาน ณ หาดทรายแก้วพร้อมด้วยเครื่องพุทธบูชามากมาย เมื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุไว้ ณ หาดทรายแก้ว และผูกภาพยนตร์รักษาไว้แล้ว พระนางเหมชาลาและคณะจึงเดินทางไปยังเมืองทนทบุรี พระเจ้าศรีธรรมโศกราช แห่งเมืองเอาวราช (เมืองรวัสดีราช) พร้อมด้วยพระนนทราช พระอนุชา ได้ทรง
อพยพผู้คนหนีโรคไข้ห่ามาทางใต้ มาตั้งถิ่นฐานที่เขาชวาปราบ เวียงสระ เขาวัง ลานตะกา และหาดทรายแก้ว ตามลำดับ แต่ก็ไม่อาจหนีไข้ห่าได้ จนพระองค์ต้องทำตามคำทำนายของพระอรหันต์ ให้ทำพิธีทำเงินตรานโม เพื่อแก้ไข้ห่าซึ่งทำสำเร็จ หลังจากนั้นพระเจ้าศรีธรรมโศกราชจึงให้ขุดหาพระบรมสารีริกธาตุ ณ หาดทรายแก้ว แล้วสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ประดิษฐาน พระบรมสารีริกธาตุและสร้างเมือง ณ หาดทรายแล้วจนสำเร็จ มีผู้ช่วยเหลือทั้งเทวดา ท้าวนาคา เจ้าเมืองลังกา หงสาวดี และหัวเมืองน้อยใหญ่ทั้งหลาย บางเมืองมาไม่ทันใน การสร้างต่างก็พากันฝังทรัพย์สมบัติที่นำมาเป็นพุทธบูชาไว้ตามสถานที่ต่าง ๆ
เมื่อพระเจ้าศรีธรรมโศกราช ทรงสร้างพระบรมธาตุเจดีย์สำเร็จ ซึ่งนับเป็นการสร้างกุศลที่ยิ่งใหญ่ ทำให้ เจ้าเมืองทั้งหลายร่วมใจกันมาขึ้นตรงต่อนครศรีธรรมราช ในรูปแบบของเมือง ๑๒ นักษัตร
คุณค่าและแนวคิด
๑. ให้ความเชื่อเกี่ยวกับความสำคัญของพระบรมสารีริกธาตุ การแพร่กระจายของคติความเชื่อ ในการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์
๒. ให้ความรู้เกี่ยวกับความเป็นมาของพระบรมธาตุเจดีย์ ได้มีการเล่าสืบต่อกันมา กล่าวถึงประวัติการ สร้างพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช โดยมีเอกสารโบราณเขียนเป็นร้อยกรอง คือ เรื่องพระนิพพานโสตร ซึ่งเรียกกันแต่เดิมว่า ตำนานพระบรมธาตุเมืองนคร ในปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ได้พิมพ์ตำนานพระบรมธาตุเมืองนคร ฉบับกลอนสวดเผยแพร่เป็นครั้งแรก ส่วนฉบับร้อยแก้ว พิมพ์ในปี พ.ศ. ๒๔๗๑
๓. ได้แนวคิดจากตำนานพระบรมธาตุเจดีย์พยายามอธิบายถึงพระพุทธศาสนาเผยแพร่จากอินเดีย และลังกาเข้ามาในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ณ เมืองนครศรีธรรมราช พระนางเหมชาลาเป็นผู้อัญเชิญ พระบรมสารีริกธาตุจากลังกามายังหาดทรายแก้ว โดยพระเจ้าศรีธรรม-โศกราชเป็นผู้นำในการสร้าง
พระบรมธาตุเจดีย์ เพื่อเป็นพุทธบูชาสำเร็จ ทำให้นครศรีธรรมราชกลายเป็นศูนย์กลางการปกครองเมือง ๑๒ นักษัตร และเป็นศูนย์รวมทางจิตใจ ของพุทธศาสนิกชนสืบมาจนทุกวันนี้