MENU
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม l webbord | คำคมนักปราชญ์| ตำนานพื้นบ้าน | รักษ์ดนตรีไทย | มวยไทย | ภาพศิลป์ไทย | สินค้าฝากขาย | เทคนิคโปรแกรม | ที่นี่มีแต่ของฟรี | ลิ้งค์สุดยอด | ติดต่อเรา |
....

จังหวัดน่าน

ตำนานวัดภูมินทร์

สถานที่ตั้ง ตั้งอยู่เลขที่ ๓๓ บ้านภูมินทร์ ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน
ประวัติความเป็นมา
................ ไม่ทราบประวัติการก่อสร้างที่แน่นอน ชื่อของวัดนี้ปรากฏในพงศาวดารเมืองน่าน เมื่อ พ.ศ. ๒๑๔๖ เมื่อครั้งที่เจ้าเจตบุตรพรหมินทร์ (เจ้าเชษฎบุตร พ.ศ. ๒๑๓๗-๒๑๔๖) ก่อการกบฎกับพม่า และถูก เจ้าสาระวตีหรือสารวัถีจับตัวนำไปประหารชีวิตที่เชียงใหม่ ส่วนพระอนุชาอีกพระองค์ คือ เจ้าบ่อน้ำนั้นถูก
พม่าทารุณกรรมจนพิราลัย และพระศพถูกทิ้งลงบ่อน้ำทิศตะวันตกของวัดภูมินทร์ จากหลักฐานดังกล่าวอย่างน้อย ก็ทำให้ทราบว่า วัดนี้สร้างขึ้นในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ประมาณ ๔๐๐ ปีมาแล้ว และสร้างในช่วง สมัยพุกามหรือพม่าจัดการปกครองเมืองน่านอยู่ แต่จะสร้างสมัยของพระยาหน่อคำเสถียรไชยสงคราม หรือ
สมัยของเจ้าเจตบุตรพรหมินทร์ คือ สมัยของพ่อหรือสมัยของลูกนั้นยังหาข้อยุติไม่ได้
................. กระแสแรกกล่าวว่าสร้างในสมัยเจ้าเจตบุตรพรหมินทร์นั้นเพราะวัดนี้เดิมชื่อว่า วัดพรหมินทร์ พระวิหารสร้างเป็นทรงจตุรมุข และพระพุทธรูปหันพระพักตร์ออกไปทิศทั้ง ๔ อัน หมายถึงพรหม และสอดคล้องกับชื่อของพระองค์
................. กระแสที่สองกล่าวว่าน่าจะเป็นพระยาหน่อคำเสถียรไชยสงครามสร้าง เพราะครองเมืองน่านถึง ๓๐ ปี ตลอดสมัยของพระองค์บ้านเมืองสงบสุข เพราะพม่าจัดการปกครองล้านนาได้อย่างเด็ดขาด การก่อสร้างและปฏิสังขรณ์ ศาสนสถานมากมาย เช่น พระธาตุแช่แห้ง และพระวิหารหลวง วัดภูมินทร์ก็น่าจะสร้างในสมัยของพระองค์ เนื่องจากรูปแบบของวิหารได้รับอิทธิพลคติความเชื่อแบบพม่า โดยเฉพาะเมื่อสร้างพระเจดีย์พม่าจะนิยม
สร้าง พระพุทธรูปไว้ทั้ง ๔ ทิศ หรืออาจสร้างเลียนแบบวิหารอนันตาซึ่งสร้างเป็นทรงจตุรมุขเช่นกัน เพียงแต่ พระประธานในพระวิหารประทับยืนหันพระพักตร์ออกไปทั้ง ๔ ทิศ เช่นกัน วัดภูมินทร์ ได้รับการบูรณะซ่อมแซมครั้งใหญ่ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ตามปรากฏหลักฐานในพงศาวดารเมืองน่านว่า เจ้าอนันตวรฤทธิเดชฯ โปรดให้ช่างหลวงดำเนินการก่อสร้างใช้เวลาถึง ๘ ปี จึงแล้วเสร็จ (พ.ศ. ๒๔๑๐ - ๒๔๑๘)
ความสำคัญต่อชุมชน
................. วัดภูมินทร์ เป็นวัดที่มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น แปลกตา คือเป็นทรง จตุรมุข ถือว่าเป็นวัดแห่งเดียว ในประเทศไทยที่ทรงคุณค่าและความงดงามลงตัว จึงมีความสำคัญต่อชุมชนนอกเหนือ จากใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติศาสนกิจแล้ว ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางโบราณสถานที่สำคัญยิ่งของจังหวัดน่าน และกรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนอาคารพระวิหาร ๑ หลัง
ลักษณะทางสถาปัตยกรรม
................... พระวิหารเป็นทรงจตุรมุข มีรูปปั้นพระยานาคราช ๒ ตัว ประดับไว้ตรงประตูทางเข้าด้านทิศเหนือ ส่วนหางอยู่ทางทิศใต้ จึงมองดูมีลักษณะเหมือนกับ จะทำหน้าที่เทินพระวิหารหลวงไว้บนหลัง มีลักษณะสง่างามน่าเกรงขาม เสมือนหนึ่งจะทำหน้าที่ปกป้องพระพุทธศาสนาของ พระสมณโคดมให้ถึง ๕,๐๐๐ พระวัสสา
ตามความเชื่อ เมื่อสร้างเป็นทรงจตุรมุข สล่าหรือช่างหลวง จึงได้สร้างพระธาตุเจดีย์เป็นแกนกลางเพื่อรับน้ำหนัก และประดิษฐานพระพุทธรูปศิลปะเชียงแสน ปางมารวิชัย หันพระพักตร์ออกไปทั้ง ๔ ด้าน ถือได้ว่า เป็นการพัฒนาและประสบความสำเร็จอย่างสูงของสกุลช่างน่าน ที่เพรียบพร้อมด้วยองค์รวมของศาสตร์และ
ศิลป์ มีสัญลักษณ์ มีคุณค่าและความสำคัญทางพุทธปรัชญา เช่น วัดภูมินทร์ที่มีลักษณะโดดเด่นเฉพาะตัวทั้งในแง่ของสถาปัตยกรรม และสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนาที่โดดเด่นและลึกซึ้ง เป็นวัดแห่งเดียวในประเทศไทยที่สร้างเป็นทรงจตุรมุข และทำหน้าที่ รับใช้สังคมพร้อมกัน ๓ ประการ คือ ประการแรกใช้เป็นพระวิหารหลวง
ประการที่สองใช้เป็นอุโบสถเพื่อทำสังฆกรรม
ประการที่สามเป็นพระธาตุเจดีย์
เส้นทางเข้าสู่วัดภูมินทร์
............... วัดภูมินทร์ตั้งอยู่เยื้องกับที่ทำการเทศบาลเมืองน่าน ติดกับถนนผาทอง สะดวกในการเข้าเยี่ยมชม