MENU
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม l webbord | ตำนานพื้นบ้าน | ติดต่อเรา |
.. ..

มณฑปพระพุทธบาทจำลองวัดเขานางบวช

สถานที่ตั้ง วัดเขานางบวช ตำบลสาริกา อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก
ประวัติความเป็นมา
..................การสร้างวัดเขานางบวชไม่สามารถหาหลักฐานการสร้าง แต่มีการบูรณะซ่อมแซม และมีความเชื่อถือ กันว่า มีความเจริญรุ่งเรือง และมีความสำคัญวัดหนึ่งในจังหวัดนครนายก มีการเล่าตำนานการสร้างวัดอยู่ ๒ ตำนาน คือ ท้าวปาจิตกุมารและนางอรพิม และหญิงหม้ายหนีมาบวชชี และเจริญธรรมจนเป็นที่ศรัทธาของชาวบ้าน
..................ต่อมาประมาณ พ.ศ. ๒๔๖๔ มีพระเถระฉายาว่า พระอมราภิรักขิต สำนักวัดบรมนิวาส กรุงเทพมหานครได้จาริกมาถึงวัดเขานางบวช จึงดำริก่อสร้างมณฑปบนยอดเขานางบวช พร้อมกับหลวงพ่อทา เจ้าอาวาสวัดเขานางบวชร่วมกับชาวบ้านที่ใจบุญ โดยนายอุ่น เชี่ยวชาญ เป็นกำลังสำคัญ
บอกบุญตามที่ต่าง ๆ ทั้งกำลังคนและกำลังทรัพย์มาก่อสร้างเริ่มก่อสร้างต้นพ.ศ.๒๔๖๔ เมื่อเริ่มพิธีบวงสรวงก็เกิดอัศจรรย์ มีแก้วลูกโตประมาณเท่าฝาบาตรโผล่ขึ้นตรงศาลเพียงตา การสร้างมณฑปนี้ เสียค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น ๑๕,๑๗๕ บาท ๑๘ สตางค์ มีบันไดขึ้น ๒๔๘ ขั้น โดยช่างฝีมือ
ชาวจีนชื่อนายหลา การก่อสร้างได้สำเร็จเมื่อปลาย พ.ศ. ๒๔๖๔ มีงานฉลองเดือน ๕ ของทุกปีเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน มีประชาชนจากถิ่นต่าง ๆ ไปทัศนาจร ปิดทองรอยพระพุทธบาทจำลองบนยอดเขานี้เป็นจำนวนมาก ทุกปี ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายกสมัยนั้น (นายชูสง่า ฤทธิประศาสน์) ได้ทำพิธี
แห่พระเครื่อง ๒๕ พุทธศตวรรษ ไปบรรจุไว้ในมณฑปด้วย
ความสำคัญต่อชุมชน
.....................พุทธศาสนิกชนชาวนครนายก ไปนมัสการพระพุทธบาทจำลองที่มณฑปเขานางบวชกลางเดือน ๕ ของทุกปี และตักบาตรเทโวในวันออกพรรษา ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๙ เป็นต้นมา
ลักษณะทางสถาปัตยกรรม
....................มณฑปพระพุทธบาทจำลองวัดเขานางบวช ตั้งอยู่บนเขานางบวชสูงประมาณ ๑๐๐ เมตร ลักษณะ มณฑปก่ออิฐถือปูน ศิลปสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีบันไดคอนกรีต จำนวน ๒๔๘ ขั้น ภายในประดิษฐาน รอยพระพุทธบาทจำลอง พระพุทธรูปโบราณ และพระเครื่อง ๒๕พุทธศตวรรษ
เส้นทางเข้าสู่มณฑปพระพุทธบาทจำลองวัดเขานางบวช
....................จากตัวเมืองนครนายก ไปตามถนนสาริกา ถึงสี่แยกประชาเกษม เข้าถนนซอยประมาณ ๑ กิโลเมตร หรือจากตัวเมืองนครนายก ไปตามถนนสาริกาและแยกเข้าถนนเฉลิมพระเกียรติ (ท่าข่อย) ประมาณ ๘ กิโลเมตร