MENU
หน้าแรก | สมุดเยี่ยม l webbord | ตำนานพื้นบ้าน | ติดต่อเรา |
.. ..

ประวัติ วัดอรุณราชวราราม

...............วัดอรุณราชวราราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร......................

สถานที่ตั้ง ด้านทิศตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาเหนือพระราชวังเดิม และฟากตะวันออกของถนนอรุณอัมรินทร์ ระหว่างคลองนครบาลกับพระราชวังเดิม แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่
ประวัติความเป็นมา
.................วัดอรุณราชวราราม เป็นวัดโบราณมีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยายังเป็นราชธานี มีชื่อเรียกเดิมว่า วัดมะกอก สมัยกรุงธนบุรีสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุร ีทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์ แล้วเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น วัดแจ้ง สาเหตุที่เปลี่ยนชื่อวัดจากวัดมะกอกมาเป็นวัดแจ้งก็เพราะว่า เมื่อสมัยที่พระเจ้ากรุงธนบุรี
ได้ปราบศัตรูที่อยุธยาและคนไทยมีอิสระภาพขึ้นดังเดิมแล้ว แต่ไม่สามารถจะตั้งอาศัยอยู่ ณ ราชธานีเดิม คือกรุงเก่าต่อมาได้ จึงพากันล่องลงมาตามลำแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อหาที่ตั้งราชธานีใหม่ พอลงมาถึงหน้าวัดมะกอกนี้ ก็พอดีรุ่งแจ้ง พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพระราชดำริเห็นเป็นอุดมมหามงคลฤกษ์ จึงโปรดให้ยับยั้ง
กระบวนผู้คน ให้เทียบเรือพระที่นั่งเข้ากับท่าน้ำ เสด็จขึ้นไปทรงสักการะบูชา พระมหาธาตุ คือพระพุทธปรางค์องค์เดิม ซึ่งประดิษฐานอยู่ริมฝั่งแม่น้ำข้างหน้าวัด ต่อมาได้โปรดให้บูรณะปฏิสังขรณ์วัด แล้วเปลี่ยนชื่อวัดใหม่เป็นวัดแจ้งเพื่อให้เหมาะสมกับเหตุการณ์มาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดให้เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เสด็จมาประทับอยู่ ณ พระราชวังเดิมข้างใต้วัดแจ้ง แต่เมื่อปีพ.ศ. ๒๓๒๘ ทรง
มอบหน้าที่ให้บำรุงบูรณะปฏิสังขรณ์วัดแจ้ง สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ได้ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์วัดแจ้งใหม่หมดทั้งวัด แต่การปฏิสังขรณ์ ทำได้สำเร็จเพียงกุฏีสงฆ์ ส่วนพระอุโบสถและพระวิหารยังไม่ทันเสร็จก็สิ้นรัชกาลที่ ๑
..................... ในสมัยรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติแล้ว ได้ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์วัดแจ้งต่อ โปรดให้สร้างพระอุโบสถ และพระวิหารต่อจากที่เริ่มสร้างไว้แล้วในสมัยรัชกาลที่ ๑ ที่พระอุโบสถโปรดให้สร้างพระระเบียงล้อมรอบ การสร้งพระอุโบสถและพระวิหารเสร็จแล้ว ยังโปรดให้
บูรณะพระอุโบสถและพระวิหารเก่าหน้าพระปรางค์หน้าวัด กับสร้างศาลาการเปรียญขึ้น ๑ หลัง การปฏิสังขรณ์สิ่งต่าง ๆ สำเร็จเรียบร้อย ก็มีการฉลองและพระราชทานนามวัดนี้ใหม่ว่า วัดอรุณราชวราราม ต่อมา ทรงมีพระราชศรัทธาที่จะสถาปนาพระมหาธาตุหรือพระพุทธปรางค์ข้างหน้าวัด ขึ้นใหม่ให้เป็นที่งามสง่า พระปรางค์เดิมสูงเพียง ๘ วา ทรงพระราชดำริว่าควรจะเสริมสร้างให้ใหญ่สูงเป็นพระมหาธาตุสำหรับพระนคร จึงโปรดให้กำหนดการลงมือขุดคลองรากทำเป็นฐาน แต่การยังไม่สำเร็จก็พอดีสิ้นรัชกาลที่ ๒ เสียก่อน
..........................รัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติสืบมาจนเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๕ ทรงพระราชดำริถึงพระมหาธาตุที่วัดอรุณฯ ซึ่งสมเด็จพระบรมชนกนาถทรงพระราชดำริไว้และค้างอยู่นั้น ควรจะดำเนินการให้สำเร็จดังพระราชประสงค์ จึงได้ทรงคิดแบบอย่างแล้วโปรดให้ลงมือสร้าง
พระพุทธปรางค์ เป็นพระมหาเจดีย์สูง ๑ เส้น ๑๓ วา ๑ ศอก ๑ คืบ ๑ นิ้ว ฐานวัดโดยรอบได้ ๕ เส้น ๑๗ วาในรัชกาลนี้ ยังโปรดให้สร้างพระมณฑป ขึ้นระหว่างพระอุโบสถกับพระวิหารที่สร้างขึ้นใหม่ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง กับสร้างพระเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมไม้ ๑๒ ขึ้น ๔ องค์ ในบริเวณด้านใต้
พระระเบียง และยังโปรดให้สร้างซุ้มประตูในย่างกลางพระระเบียง ตรงหน้าพระอุโบสถออกมา ทำเป็นยอดทรงมงกุฏ และสร้างยักษ์ยืนคู่หนึ่งประจำที่หน้าซุ้มประตูด้านนี้ด้วย
.....................เมื่อรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติแล้ว ต่อมาโปรดให้สร้างและปฏิสังขรณ์สิ่งต่าง ๆ ในวัดอรุณฯ เพิ่มเติมขึ้นอีกหลายอย่าง เช่น สร้างบุษบกยอดเป็นทรงปรางค์ขึ้นที่ผนังหุ้มกลอง ด้านหน้าพระอุโบสถ เพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่องอย่างพระมหาจักรพรรดิ์
แห่งหนึ่ง กับที่ผนังหุ้มกลองด้านหลังพระอุโบสถอีกแห่งหนึ่ง กับโปรดให้ประดับฝาผนังด้านนอกพระอุโบสถและพระวิหารด้วยกระเบื้องเคลือบสีต่าง ๆ
...................อนึ่ง พระประธานในพระอุโบสถ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงปั้นหุ่นด้วยฝีพระหัตถ์ นั้นยังไม่มีพระนาม จึงพระราชทานนามถวายว่า พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก และที่โปรดให้อัญเชิญพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยมาบรรจุไว้ ณ พระพุทธบัลลังก์ของ
พระประธานองค์นี้ด้วย กับที่พระวิหารโปรดให้อัญเชิญพระอรุณ ที่อัญเชิญมาแต่เวียงจันทน์ มาประดิษฐานไว้ในพระวิหารอยู่ข้างหน้า พระพุทธชัมภูนุชมหาบุรุษลักขณาอสีตยานุบพิตร พระประธานในพระวิหารนั้นเมื่อการ บูรณะปฏิสังขรณ์วัดสำเร็จแล้ว ได้พระราชทานนามใหม่ว่า วัดอรุณราชวราราม ดังที่เรียกกันจนถึงทุกวันนี้
ความสำคัญต่อชุมชน
.....................วัดอรุณราชวรารามเป็นวัดที่มีความสำคัญในด้านประวัติศาสตร์แห่งหนึ่ง เมื่อสมัยกรุงธนบุรี พระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงสร้างพระราชวังขึ้นเป็นพระราชนิเวสสถานนั้น ได้ทรงเอากำแพงและป้อมวิชัยประสิทธิ์เป็นที่ตั้งพระราชวัง แล้วโปรดให้ขยายเขตพระราชวังขึ้นมาทางเหนือจนถึงคลองนครบาล เพราะฉะนั้นวัดแจ้งหรือวัดอรุณฯ จึงตกอยู่กลางพระราชวัง จึงให้ยกเว้นพระสงฆ์มิให้อยู่อาศัย วัดแจ้งจึงกลายเป็นวัดประเภท พุทธควาส อยู่สมัยหนึ่ง
.....................ความสำคัญของวัดอรุณราชวราราม เมื่อสมัยกรุงธนบุรีอีกเรื่อง คือ วัดอรุณราชวราราม เคยเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือ พระแก้วมรกตอยู่นานถึง ๕ ปี โดยเมื่อปีพ.ศ. ๒๓๒๒ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ตีได้เมืองเวียงจันทน์ แล้วอัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญ ๒ องค์ คือ พระแก้ว
มรกต กับพระบางลงมาด้วย สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงโปรดให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ ขึ้นไปรับล่วงหน้าพาล่วงลงมาตามลำแม่น้ำ แล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปรับถึง บางธรณี โปรดให้แห่ลงมา ณ กรุงธนบุรี ให้มีมหรสพสมโภชมาในกระบวนเรือระหว่างทาง เมื่อถึงวัดแจ้งโปรดให้
อัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นที่สะพานป้อมต้นโพธิ์ ปากคลองนครบาล แล้วให้พักไว้ ณ โรงชั่วคราว โปรดให้มีมหรสพสมโภชโดยสังเขป ครั้นจัดการสร้างพระมณฑปขึ้นสำหรับเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปเสร็จแล้ว จึงเมื่อวันวิสาขปุรณมี เพ็ญกลางเดือน ๖ ปีชวด โทศก พ.ศ. ๒๓๒๓ โปรดให้อัญเชิญพระแก้วมรกตขึ้นประดิษฐานไว้ในพระมณฑป ซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังระหว่างพระอุโบสถและพระวิหารเก่า มีการสมโภชใหญ่ ๗ วัน
๗ คืนพระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่ที่วัดนี้ เป็นเวลาประมาณ ๕ ปี จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๓๒๕ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ เสด็จมาสร้างพระมหานคร ณ ฝั่งตะวันออกของกรุงธนบุรีเป็นราชธานี สร้างพระบรมมหาราชวัง แล้วโปรดให้สร้างพระอารามขึ้นในพระบรมมหาราชวัง คือ
วัดพระศรีรัตนศาสดารามด้วย
........................เมื่อการสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามเสร็จแล้ว โปรดให้อัญเชิญพระแก้วมรกตจากวัดแจ้งแห่ข้ามฟากมา ประดิษฐานไว้ ณ พระอุโบสถ เมื่อวันจันทร์ เดือน ๔ แรม ๑๕ ค่ำ พ.ศ. ๒๓๒๗ ส่วนวัดแจ้ง ภายหลังที่อัญเชิญพระแก้วมรกตย้ายข้ามมาแล้ว ก็โปรดให้รื้อกำแพงพระราชวังตั้งแต่คลองนครบาลลงมาจนถึง
กำแพงพระราชวังเดิม กลายเป็นวัดอยู่นอกพระราชวัง จึงโปรดให้เป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษาต่อมาได้ จนกระทั่งปัจจุบันนี้
........................ปัจจุบัน กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนวัดอรุณราชวราราม เป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๖ ตอนที่ ๖๔ วันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๒
ลักษณะทางสถาปัตยกรรม
สิ่งสำคัญในพระอารามมีดังนี้
...............พระปรางค์ ตั้งอยู่ทางด้านหน้าของวัด ทางทิศใต้ เป็นของโบราณ เดิมมีขนาดสูง ๘ วา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อเสริมพระปรางค์องค์เดิมเพื่อให้ใหญ่สมเป็นพระมหาธาตุประจำกรุงรัตนโกสินทร์ มาแล้วเสร็จในรัชกาลที่ ๓ เป็นพระปรางค์ สูง ๓๓ วาเศษ ก่ออิฐถือปูน
ประดับด้วยชิ้นกระเบื้องเคลือบสีต่าง ๆ อย่างงดงามประณีต บางลายใช้จานชามของโบราณที่มีลวดลายสวยงาม เป็นของเก่าหายาก เช่น ชามเบญจรงค์ มาประดับตกแต่ง และที่ยอดพระปรางค์มีมงกุฏมาประดิษฐานเหนือยอดนภศูล ทำให้แปลกกว่ายอดนภศูลที่อื่น ๆ
...............พระอุโบสถ เป็นพระอุโบสถที่ยกพื้นสูง หน้าบันด้านหน้าและด้านหลังเป็นรูปเทวดาถือพระขรรค์ประทับในปราสาท ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังทั้งสี่ด้าน ฝีมืองดงามมาก เป็นภาพพุทธประวัติ ภาพผจญมาร ภาพเวสสันดรชาดก ฯลฯ พระประธานในพระอุโบสถมีพระนามว่า พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย พระอุโบสถวัดนี้ไม่มีกำแพงแก้ว แต่มีพระระเบียงแทน เป็นของที่สร้างขึ้นในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีทรวดทรงงามกว่าพระระเบียงในที่อื่น ๆ ทั้งหมด ที่ผนังระเบียงมีลายเขียนเป็นซุ้มเรือนแก้วลายดอกไม้ ใบไม้ มีนกยูงแบบจีนคาบอยู่ตรงกลาง พระพุทธรูปในพระระเบียงเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ทั้งหมดรวมได้ ๑๒๐ องค์นอกจากนี้ยังมี หอระฆัง มณฑปพระพุทธบาทจำลอง พระวิหาร หอไตร เป็นต้น